ประวัติความเป็นมาของคณะ
คณะเศรษฐศาสตร์ได้เริ่มดำเนินการร่างหลักสูตรครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการประมาณปี พ.ศ. 2536 โดยอาจารย์ผู้สอนรายวิชาเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งเป็นวิชาแกนธุรกิจของคณะบริหารธุรกิจ) (ผู้ร่างหลักสูตรประกอบด้วย อ.ปีณิต สุภากุล, อ.อุดมพร ตนานนท์, อ.สุรีรัตน์ ฉัตรศิริกุล) เพราะตลาดแรงงานยังมีความต้องการบัณฑิตทางด้านเศรษฐศาสตร์ และในวันที่ 30 ตุลาคม 2539 มหาวิทยาลัยพายัพมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) ขึ้นจึงนำหลักสูตรเก่ามาพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรนี้ได้เพราะข้อจำกัดด้านสถานที่เรียน
วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 มหาวิทยาลัยพายัพได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาใหม่ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยดำเนินการขออนุมัติหลักสูตรและขอเปิดหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541
ในที่สุดทางทบวงมหาวิทยาลัยโดยคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้มีมติจากการประชุม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ให้มหาวิทยาลัยพายัพเปิดดำเนินการสอนหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิตได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2542
คติพจน์ของคณะวิชาเศรษฐศาสตร์
“เรียนรู้ พัฒนา”
ปรัชญาของคณะเศรษฐศาสตร์
คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยพายัพได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์กลางทางวิชาการและอำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติโดยรวม
คณะเศรษฐศาสตร์แห่งนี้จะเป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ พร้อมทั้งนำมาพัฒนาใช้จริง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคโลกาภิวัตน์ บัณฑิตแห่งคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยพายัพ จะต้องรู้จักพัฒนาตนเองให้มีความรู้ทางด้านวิชาการอย่างแท้จริง มีพื้นฐานทางด้านปัญญา ความคิด ตลอดจนต้องเป็นผู้มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบและพร้อมที่จะรับใช้สังคม
วัตถุประสงค์ของคณะ
- เพื่อเสริมสร้างความมีคุณธรรม จริยธรรม และความภาคภูมิใจให้กับนักศึกษา และบุคลากรของคณะเศรษฐศาสตร์
- เพื่อผลิตบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถในวิชาชีพ และพร้อมที่จะออกไปรับใช้สังคมประเทศชาติ
- เพื่อเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้การบริการทางวิชาการแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
- เพื่อส่งเสริม สนับสนุนคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ในการทำงานวิจัยที่สามารถประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ
วิสัยทัศน์ของคณะเศรษฐศาสตร์
มุ่งพัฒนาความรู้ แก่บัณฑิต เพื่อให้เป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ พร้อมที่จะนำวิชาความรู้ที่ทันสมัยไปรับใช้ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ
พันธกิจของคณะเศรษฐศาสตร์
เพื่อให้มีการพัฒนาคณะเศรษฐศาสตร์ภายใต้อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “คุณธรรมนำใจ (สัจจะ) รับใช้สังคม (บริการ) วิชาการก้าวหน้า (แหล่งเรียนรู้) พัฒนาสู่สากล (พลเมืองโลก) และคติพจน์คณะเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “เรียนรู้ พัฒนา” เห็นควรกำหนดพันธกิจของคณะเศรษฐศาสตร์ดังนี้
- จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา โดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นที่ยอมรับของสังคม
- ผลิตผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศ
- ให้บริการวิชาการแก่สังคมโดยใช้องค์ความรู้และผลงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการเรียนรู้ร่วมกัน
- มีการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของชุมชน สังคมและประเทศ
- มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และการจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
อัตลักษณ์ของคณะวิชา/หน่วยงาน
เน้น “เรียนรู้ พัฒนา” เพื่อตอบสนองอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า
พลเมืองโลก : คุณธรรมนำใจ (สัจจะ) รับใช้สังคม (บริการ) วิชาการก้าวหน้า (แหล่งเรียนรู้) พัฒนาสู่สากล (พลเมืองโลก)
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของคณะเศรษฐศาสตร์
“วิชาการก้าวหน้า รู้รักพัฒนา คุณธรรมนำใจ รับใช้สังคม”
- วิชาการก้าวหน้า หมายถึง การมีความรู้ทางวิชาการ มีทักษะวิชาชีพ มีความสามารถในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีศักยภาพด้านภาษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และการวิจัยเชิงบูรณาการ
- รู้รักพัฒนา หมายถึง การพัฒนาตนเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น มีทักษะชีวิต มีภาวะความเป็นผู้นำ รู้จักคิดวิเคราะห์ และรักในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- คุณธรรมนำใจ หมายถึง การมีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ยึดหลักคำสอนในศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เป็นศาสนิกชนที่ดี มีความประพฤติดีงาน ให้เกียรติ เคารพผู้อื่น รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง รู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติสุข
- รับใช้สังคม หมายถึง มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น มีจิตสาธารณะ สืบสานวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

สัญลักษณ์
เฟืองจักร หมายถึง การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการหมุนของเฟืองจักรยังหมายถึง วัฏจักร หรือการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ
รวงข้าว หมายถึง ภาคเกษตร เพราะข้าวคืออาหารหลักใช้เลี้ยงชีพให้เจริญเติบโต
CONTACT
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ (เขตแม่คาว) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์/โทรสาร : (053) 851478-86 ต่อ 7128